การสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาซักเว็บไซต์อาจจะไม่ใช่เรื่องยุ่งยากในยุคสมัยที่ใครๆ ก็มีเว็บไซต์ได้ แต่จะมีใครแน่ใจและการันตีได้บ้างว่าองค์ประกอบที่ควรมีอยู่ในหน้าเว็บเพจของเราควรมีอะไรบ้าง ในวันนี้เราขอพักเรื่องดีไซน์หรือฟังก์ชันต่างๆ เอาไว้ข้างๆ แล้วมาพูดถึงมาตรฐานหลักที่สุดแสนจะธรรมดา แต่ควรค่าที่จะเรียนรู้อยู่พอตัวกันก่อนดีกว่า ใช่แล้ว เราพูดถึง เมนูหลัก ต่างๆ ที่เว็บไซต์ที่ดีควรมีนั่นเอง เพราะเชื่อเราเถอะว่าเรื่องเล็กๆ แค่นี้ มีผลกับทราฟฟิกเว็บไซต์คุณได้อย่างคาดไม่ถึงกันเลยทีเดียว
1. Home
ดูเป็นเมนูคลาสสิกที่สุด ธรรมดาที่สุด แต่จริงๆ แล้วขาดไม่ได้เลย โดยเฉพาะถ้าเว็บไซต์ของคุณมีช่วงอินโทรบอกข้อมูลโดยสรุปเกี่ยวกับบริษัทอยู่ที่หน้าแรกด้วยแล้ว ลองจินตนาการว่าหากคุณเป็นคนที่เข้ามาเยี่ยมเว็บไซต์และกำลังดูเนื้อหาหน้าอื่นๆ อยู่ สักพักรู้สึกอยากกลับไปที่หน้าแรกเพื่อดูภาพรวมอีกครั้ง แน่นอนว่าเขาต้องมองหาปุ่ม Home ก่อนเป็นอันดับแรก ในกรณีนี้บางบริษัทก็มีลูกเล่นเล็กๆ เช่น ไม่ใส่คำว่า Home ไว้โดยตรง แต่แทรกลิงก์ไปยังหน้าแรกไว้ตรงโลโก้แบรนด์นั้นๆ ก็ถือว่าเป็นกิมมิกที่น่าสนใจและได้รับความนิยมไม่น้อย
2. About us
เจอหน้ากันครั้งแรกควรทำอะไร ใช่แล้ว แนะนำตัวยังไงล่ะ การที่ใครต่อใครคลิกเข้ามาที่เว็บไซต์เรานั้นเป็นไปได้หลายเหตุผล บางครั้งอาจจะเป็นเพราะแค่ดูจากโลโก้บริษัท หรือได้ยินชื่อเสียงเรามาบ้าง ดังนั้นการอธิบายตัวเองเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์รู้จักเรามากขึ้นย่อมเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างไม่ต้องสงสัยกันเลย
3. Our Works / Our Services
แนะนำตัวกันไปแล้วก็ต้องมีช่วงโชว์ผลงานกันหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทที่ต้องมีตัวอย่างผลงานเพื่อประกอบการตัดสินใจของลูกค้า เมนูนี้ถือเป็นหน้าเนื้อหาที่เปิดพื้นที่พรีเซนต์พอร์ตโฟลิโอของเรารวมถึงบริการใดๆ ก็ตามที่มีพร้อมเสิร์ฟได้อย่างเต็มที่นั่นเอง
4. Contact us
แต่จะมีประโยชน์อะไรถ้าผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ถูกใจในเนื้อหา และอยากร่วมงานกับเราแต่กลับติดต่อเราไม่ได้ เมนูสำคัญที่สุดอาจจะไม่ใช่บอกว่าเราเป็นใคร แต่เป็นช่องทางสำหรับติดต่อเราได้ต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นเบอร์โทรศัพท์ อีเมล หรือช่องทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ รวมถึงแนบที่ตั้งบริษัทพร้อมแผนที่สำหรับการเดินทางก็จะยิ่งอำนวยความสะดวกกับผู้ติดต่อมากยิ่งขึ้น
5. Call-to-action button
สำหรับเว็บไซต์ E-commerce หรือเว็บไซต์ใดก็ตามที่มีเป้าหมายหลักในการทำเว็บไซต์ชัดเจนมาตั้งแต่เริ่ม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อให้ผู้เข้าชมซื้อสินค้า กรอกอีเมล์เพื่อติดตามคอนเทนต์ หรือติดต่อกับเราโดยตรงก็ตาม เมนู Call-to-action คือสิ่งที่มีเพื่อเป็นจุดชี้นำให้เกิดการกระทำนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น ปุ่ม นำใส่ตะกร้า/เพิ่มในรถเข็น ในเว็บไซต์ที่จำหน่ายสินค้า หรือปุ่ม กรอกอีเมลเพื่อติดตามบทความดีๆ จากเรา สำหรับเว็บไซต์สื่อออนไลน์ที่นำเสนอข้อมูลและต้องการสร้างกลุ่มผู้ติดตามผ่านทางอีเมล โดยเมนู Call-to-action ที่กล่าวมานี้ก็ต้องปรับใช้ตามจุดประสงค์ของเว็บไซต์นั้นๆ นั่นเอง
nylon.com
Comments are closed.