องค์ประกอบหลักๆ ในงานออกแบบสักชิ้นล้วนแล้วแต่สำคัญด้วยกันทั้งนั้น วันนี้เราจึงขอมาพูดถึงหนึ่งในองค์ประกอบหลักที่ว่าอย่าง ฟอนต์ หรือ ตัวอักษร ที่ช่วยให้ชิ้นงานดูสมบูรณ์ตามแบบที่ควรจะเป็นมากขึ้น แถมในบางครั้งก็นับได้ว่าเป็นตัวชูโรงที่ช่วยดึงดูดสายตาและอารมณ์ของผู้เสพผลงานได้ดีอีกด้วย แน่นอนว่าเทคนิคในการใช้ฟอนต์นั้นมีให้เลือกกันมากมาย แต่วันนี้เราจะขอหยิบมาฝากกันสัก 5 เทคนิคที่แอบบอกเลยว่ายังไงก็ดูดีไม่มีเอาท์
1. Outline fonts
โดยส่วนมากเราจะพบการใช้ฟอนต์แบบ Outline กันในแวดวงแฟชั่น และนิตยสาร (ลองกลับไปสังเกตดูกันนะ) ซึ่งการใช้เทคนิคนี้จะทำให้เราสามารถเพิ่มลูกเล่นต่างๆ ในพื้นที่ด้านในและระหว่างตัวอักษรได้อีกด้วย
2. Vintage fonts
ประโยค Classic never dies นี่ยังใช้ได้ดีอยู่ เพราะการใช้ฟอนต์แนววินเทจย้อนยุคก็ยังได้รับความนิยม นอกจากจะถือว่าเป็นตัวแทนของความจริงจังและสง่างามแล้ว ตัวอักษรแนวนี้มักจะทำให้เราได้นึกย้อนไปถึงกลิ่นอายความทรงจำในอดีตอยู่เสมอ เรามักจะได้เจอฟอนต์แนววินเทจในโปสเตอร์หนัง ใบปิดเทศกาลดนตรี หรืออีเวนต์ที่มีธีมย้อนยุคหน่อยๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ เลยก็ Stranger Things ที่ดึงกลิ่นอายยุค 80 มานั่นไง!
3. Hand-Lettered Fonts
เทคนิคที่แรงดีไม่เคยมีตกเพราะพกแต่ความยูนีคหรือความเฉพาะตัวมาแบบเด่นชัดสุดๆ ก็คงจะหนีไม่พ้นการใช้ฟอนต์ที่เขียนขึ้นมาด้วยลายมือนี่แหละ นอกจากจะดูจริงใจแล้ว ยังช่วยเพิ่มสเน่ห์และเสริมความขี้เล่นให้ชิ้นงานได้ด้วย
4. Extra Bold fonts
เขาว่ากันว่ายิ่งตัวอักษรหนาและเค้าโครงชัดเจนก็ยิ่งดูเด่น เห็นว่าจะจริง หากอยากให้ชิ้นงานดูโดดเด่น ต้องการดึงความสนใจด้วยคำหรือประโยคที่อยากจะสื่อออกไป การเลือกใช้ฟอนต์ตัวหนาทึบขนาดใหญ่ถือเป็นทางเลือกที่ดีและตอบโจทย์สุดๆ
5. Minimal Sans Serifs
มีแฝดพี่เป็นการใช้ฟอนต์ตัวหนาทึบ ก็ต้องมีแฝดน้องที่มาสายมินิมอลไม่อยากดึงความสนใจอะไรมากมายอยู่ด้วยแน่นอน เทคนิคการใช้ฟอนต์แบบ Sans Serifs เรียบๆ เกลี้ยงๆ ช่วยให้ชิ้นงานดูสะอาดและโมเดิร์นขึ้น และถึงแม้จะเป็นตัวบางๆ แต่หากจัดวางในตำแหน่งที่เหมาะสมก็ยังคงส่งพลังให้กับคนดูได้เป็นอย่างดี
Comments are closed.